"Loyal to the profession and Committed to the principles of morality"
Article
แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญา ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งได้
06 May 2021 01:25pm (Update 06 May 2021 01:33pm)

แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญา ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งได้

ตามปกติแล้ว บุคคลที่จะถือว่าเป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้น ต้องเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง กล่าวคือ ต้องเป็นผู้เสียหายตามความเป็นจริง และต้องไม่มีส่วนในการกระทำความผิดนั้นด้วย จึงจะเป็นบุคคลที่มีอำนาจดำเนินคดีอาญาทั้งปวง เพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) 

อย่างไรก็ตาม หากบุคคลใดแม้จะไม่ถือเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา (มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย) แต่หากพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้น ได้รับความเสียหายในทางแพ่งจากการกระทำความผิดอาญาด้วยแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 5400/2560

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน   ได้นั้น  ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหาย ตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับ มาตรา 2 (4) ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดั่งได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีจะนำความหมายของคำว่าผู้เสียหายในทางอาญา   เช่น ผู้เสียหายโดยนิตินัย หรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม      ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) มำบังคับใช้สำหรับคดีนี้ ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหาย ของรถยนต์ นายผจญ เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อนายผจญ ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายในมรดก ตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายผจญ จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้  และค่าขาดไร้อุปการะนั้นผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบ    ด้วยกฎหมายของนายผจญ เป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสามและมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาท       ของนายผจญนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป

คำพิพากษาฎีกาที่1261/2561

ผู้มีสิทธิยื่นคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่าผู้เสียหายในทางคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย         ตามมาตรา 2 (4) มาใช้บังคับ แม้ผู้เสียหายมีส่วนในการกระทำความผิดน้ันก็เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่าน้ัน ไม่ทำให้สิทธิผู้เสียหายที่จะร้องขอใหชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป  ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยเป็นการไม่ชอบ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาฎีกาที่ 1935/2561

โจทก์ร่วมสมัครใจวิวาทกับจำเลย โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อาญามาตรา 2 (4) จึงไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญาได้ แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจได้นั้น หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน โดยพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง มิใช่นำเอาความหมายของคำว่าผู้เสียหายในคดีอาญามาใช้บังคับแม้โจทก์ร่วมจะไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ แต่ก็มีสิทธิเป็นผู้ร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ผู้ร้องและจำเลยสมัครใจต่อสู้กันถือได้ว่าต่างฝ่ายต่างก่อให้เกิดความเสียหายด้วยกัน แต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นซึ่งมีวิถีกระสุนกระจายเป็นวงกว้างยิงไปทางผู้ร้องจนกระสุนปืนถูกผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ในขณะที่จำเลยไม่ถูกกระสุนปืนที่ร่างกายเลย ตามพฤติการณ์เป็นที่เห็นได้ว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่าฝ่ายผู้ร้อง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้ร้องกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมด

กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้ว ให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) “ผู้เสียหาย”หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4 , 5 และ 6

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์     ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น  ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้

คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้

หมายเหตุ ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้อง ตามมาตรา 44/1 นั้น   ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยเท่านั้น ฎีกาดังกล่าวมาทั้งหมดจึงกลับหลักฎีกาเดิมแล้ว 

Article
    Connect with Social Network